พาไปแอ่ว "เมืองแพร่" กันค่ะบล็อกนี้ หลังจากโปรโมทเกริ่นไว้ในบล็อกก่อนๆและมีเพื่อนบล็อกสนใจกันมากถึงเรื่องราวที่เราได้ไปเจอ และสัมผัสมา
อยากมาเล่าสู่กันฟัง ของที่ไปที่มาได้ไปเยือนบ้านเก่าเหยียบ 100 ปีหลังนี้ บ้านที่มีตำนานเล่าขานกันมา ถึงเรื่องทาส ในรัชกาลที่ 5 และอื่นๆ ในบ้านนี้
ที่เราได้พบเจอ มาเล่าสู่กันฟัง
ก่อนอื่นใด ขอออกตัวว่าบล็อกนี้จะอิงเรื่องเล่าที่ได้ค้นคว้ามาพอสมควร
และเล่าตามใจฉันที่ได้พบเจอมาตามสไตล์เจ้าของบล็อกนี้นะคะ
ส่วนสาระ หามีไม่ เอ้ย ก็พอมีบ้างกับเขาล่ะน่า ^^"
พร้อมแล้ว เราบึ่งรถไปยังเมืองแพร่กันเลยค่า
พิกัดที่ตั้งของคุ้มวงศ์บุรีนะคะ เราเป็นคนบอกทางไม่เก่ง เพราะลำพังตัวเองขับไปบ้านหลังนี้ก็หลงเหมือนกันค่ะ
ดูจากแผนที่ไม่ให้หลงได้ไง ตาลายมากกกกก จุดเริ่มต้นอยู่จุดใดจุดหนึ่ง แถวถนนพหลโยธิน ที่มุ่งหน้าสู่ ลำปาง พะเยา และเชียงราย
จะมีถนนตัดเข้าในเมืองแพร่หลายเส้น ขับเข้ามาเรื่อยๆ เลยค่า ยังพิกัด GPS นี้ 18.142079,100.134519 จำได้ว่าไปเส้นรอบเมือง
คุ้มวงศ์บุรีนี้จะอยู่ติดๆกับศูนย์ราชการต่างๆ ไม่ว่าเป็น เรือนจำแพร่ ศาลจังหวัดแพร่ ตลอดโรงเรียนต่าง ๆ ในเมืองแพร่
แต่ก็ทำเอาเราหลงไปแล้ววววว
ขับรถมาถึงจนได้ละคะ 555+ บริเวณบ้านมีที่จอดรถเยอะพอสมควร หรือว่าเราไปเที่ยวช่วง
วันธรรมดาด้วยมั้ง ไม่ได้ไปวันหยุดนะคะ คนก็เลยน้อย
หาที่จอดกันได้สบายเลยทีนี้
จากที่ได้สำรวจบริเวณภายนอกของคุ้มวงศ์บุรีมีการปลูก
ต้นไม้ ดอกไม้และการจัดสวนได้ลงตัวมาก เสริมให้ตัวบ้านดูมีเสน่ห์ไปอีกแบบหนึ่ง
"คุ้มวงศ์บุรี"
ดำเนินการสร้างโดยเจ้าพรม ( หลวงพงษ์พิบูลย์ ) และเจ้าสุนันตา วงศ์บุรี (หลานสาวเจ้าบัวถา) โดยดำริของ เจ้าบัวถา ชายา เจ้าพิริยะเทพวงศ์ (เจ้าเมืองแพร่องค์สุดท้าย) ซึ่งมีอาชีพทำสัมปทานป่าไม้ โดยสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2440
"คุ้มวงศ์บุรี"
เป็นอาคารไม้สักทอง 2 ชั้น หลังคาทรงปั้นหยา รูปแบบสถาปัตยกรรมไทยผสมยุโรป ประดับลวดลายแบบเรือนขนมปังขิง ซึ่งเป็นรูปแบบนิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อสร้างโดยช่างจีนชาวกวางตุ้งและผู้ช่วยชาวไทย จวบจนถึงปีนี้ นับได้ 115 ปีแล้วนะคะสำหรับตัวบ้านหลังนี้ที่ลูกหลานสืบทอดกันมารักษาไว้อย่างดี
และบ้านเก่าหลังนี้ บุคคลที่มีอำนาจสูงสุด ก็คือ เจ้าบัวถา ชายาคนแรกของเจ้าเมืองแพร่องค์สุดท้าย พร้อมกับเรื่องเล่า และสิ่งของมีค่าภายในมีสิ่งที่น่าสนใจ ประกอบด้วย เครื่องใช้ไม้สอยในยุคนั้น อาวุธโบราณ พระพุทธรูปโบราณ รูปภาพเก่าแก่ เอกสารการขอสัมปทานป่าไม้ในอดีต พร้อมแล้ว ไปดูกันค่ะ ภายในบ้านจะเป็นเช่นไร เราพร้อมพาทุกท่านก้าวเดินพร้อมๆ กัน ณ บัดนาว ~
เบรคเอี๊ยดดดดกันก่อนค่า
ลืมบอกไปว่าบริเวณภายนอกบ้านคุ้มวงศ์บุรีมีร้านอาหาร
"ครัววงศ์บุรี"
ด้วยนะคะ อิอิ ขายอะไรกันน้อ
ไปชิมเติมพลังก่อนเดินดูในบ้านกันนะคะ อาหารจะเป็นเมนูง่าย ๆ
ขนมจีนน้ำเงี้ยว / ข้าวซอยไก่ / ส้มตำ เท่าที่เราจำได้นะคะ
เราสั่งข้าวซอยไก่ (35 บาท)
ชิมมาแล้ว ให้คะแนนกัน
2 ดาวล่ะกันอ่ะ
เดินเข้าไปเข้าไปชั้นล่างจะมีเคาน์เตอร์จำหน่ายบัตรเยี่ยมชม ค่าเข้าชมคนละ 30 บาทนะคะ หลังจากซื้อบัตรแล้วจะมีเจ้าหน้าที่ของคุ้มวงศ์บุรีพาไปเดินชมตามจุดต่างๆ ของบ้านพร้อมเล่าที่ไปที่มาแหล่งของเก่านั้นๆ แต่ก็ไม่ได้เกาะติดนักท่องเที่ยวตลอดเวลานะคะ เพราะหลังจากที่ได้เล่าเรื่องราวความเป็นมาแล้วก็จะปล่อยให้เราเดินเก็บภาพมุมต่างๆ ได้ตามสะดวก
เจ้าหน้าที่จะพาเดินขึ้นมายังชั้น 2 ของบ้าน
และจุดแรกที่จะแนะนำให้รู้จักกันก่อนคือ
"เจ้าบัวถา" เจ้าของบ้านหลังนี้ในยุคแรก
พร้อมทั้งข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ
สมัยรัชกาลที่ 5 เก็บรักษาไว้อย่างดี
(ภาพเขียนรูปเหมือนเจ้าบัวถา)
กำปั่นใบนี้ เชื่อว่าเป็นของพระยาบุรีรัตน์
ที่ได้รับพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 5
เนื่องจากมีพระราชลัญจกรประทับอยู่
__________________________
และใบนี้เห็นกันจะจะสมัย 115 ปีก่อนนะคะ
เป็นใบสั่งทำทอง เงิน และสร้อยเพชร
โดยทองสมัยนั้นอยู่บาทละ 23 บาท (แอบปาดเหงื่อ _ _")
และเพชร 10 เม็ดราคา 153 บาท (พระเจ้าช่วยผ่านไปร้อยปีนี่นะ)
ด้านตรงข้ามกันของภาพเหมือนเจ้าบัวถาจะเป็นห้องรับแขก คือ ภาพนี้
ภายในตู้โชว์ต่างๆ เราสามารถเข้าไปดูและถ่ายรูปกันได้เลยนะคะ แต่บางตู้ก็จะมีป้ายบอกห้ามถ่ายรูปด้วย
แต่ก็ยังมีคนแอบถ่ายมา (อ้าวซวยแระ)
และเริ่มตอนนี้กันแล้วล่ะ เสียงเพลงดนตรีโบราณ ๆ เปิดคลอมาเบาๆ
ปัดโถ่เอ้ย !! เพื่อให้ได้บรรยากาศหรือไงอะ เรานี่นะ เดินชมไปด้วย หันซ้ายหันขวาเสียวสันหลังไปกับเสียงเพลง นั้นด้วย
ไม่ไหวแล้ว...
ยังไม่พอนะคะ ด้านข้าง ๆ จะมีกระจกเงาไว้อีกต่างหาก
เจ้าหน้าที่ก็ให้จัดท่าแบบนี้ บอกว่านี่แหละ
มุมมหาชนล่ะนะ และให้มองในกระจกโน่น เค้าก็ถ่ายรูปให้
ปล. รูปนี้ เราเองนะไม่ใช่แรงเงาที่ไหน 555
ห้องนอนห้องหนึ่งฝั่งซ้ายมือของบ้านจะเป็นห้องนอนที่ยังคงสภาพเดิมไว้ทุกชิ้น แต่ก็มีเชือกกั้นเขตไว้ไม่ให้จับต้องได้ ดูแต่ตาก็พอว่างั้นเหอะ ในภาพเจ้าหน้าที่กำลังบรรยายให้น้องๆ นักเรียนถึงประวัติของบ้านหลังนี้ โดยเจ้าหน้าที่นั้นจะแต่งตัวด้วยเสื้อหม้อฮ่อม อันเป็นสัญลักษณ์ของชาว เมืองแพร่ ที่ทุกคนต่างรู้จักกันดี ~
เก็บภาพ แต่ละมุมของบ้านหลังนี้มาให้ชมกันนะคะ ของเก่าแต่ละชิ้น ประมาณราคาไม่ได้ บางจุดก็ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ เนื่องจากเป็นของที่มีราคาค่อนข้างสูง อย่างเช่นเครื่องครัวในตู้โชว์ ทุกชิ้นล้วนทำจากเงินแท้ทั้งนั้น และก็มีจุดหนึ่ง ห้ามถ่ายรูปเด็ดขาดนั่นคือห้องเก็บอาวุธโบราณ ซึ่งเราได้แต่มองผ่านเพราะว่ามันน่ากลัวมาก ๆ อ่ะ ลองนึกภาพเอาเหอะ ระหว่างชมห้องเก็บอาวุธนั้นในขณะที่เพลงโบราณ ก็ยังดีดซึงก้องเบาๆ อยู่อย่างนั้น _ _"
และสิ่งที่เราอยากเล่า อยากบอก อยากให้ทุกคนได้มาเห็นกันจังๆ คือภาพต้องห้ามนี้แหละคะ เราไปเสาะหาในอินเตอร์เน็ตแทบพลิกแผ่นดินที่คิดว่า ต้องมีใครแอบถ่ายออกมาได้ละน่า คือในห้องนี้ห้ามถ่ายจริงๆนะ เราก็ถ่ายมาแต่ถ่ายมุมไกลๆ ไม่ได้เจาะจงขนาดนี้ >"<
"สัญญาซื้อขายทาส"
ซึ่งเราอ่านสัญญาการขายตัวเองเมื่อสมัยร้อยปีแล้ว ได้แต่สังเวช ขายตัวเองให้กับเจ้าของบ้านหลังนี้ ในราคา 25 บาท ถึง 150 บาท ค่าตัวเรามีค่าเพียงแค่นี้หรือ? ที่เห็นโชว์ไม่ได้มีฉบับเดียวนะคะ แต่มีหลายฉบับมาก และมันทำให้เราหดหู่เพิ่มขึ้น เมื่อได้ไปเห็น
"ห้องคุมขังทาส"
ภาพห้องคุมขังทาสนี้ถ่ายจากคุ้มเจ้าหลวงใกล้ๆกันค่ะ ซึ่งทำให้เราหลับตาย้อนคิดถึงอดีตก่อนเลิกทาสนั้น คงทรมานกันมาก
มุมบนเป็นห้องนอนของเจ้าบัวถา
เจ้าของบ้านรุ่นแรกของคุ้มวงศ์บุรีค่ะ
จะเห็นภาพถ่ายมุมขวา
ก็มีสัญลักษณ์ห้ามถ่ายภาพด้วย
เนื่องจากเป็นภาพจริงๆ
แต่เราก็ถ่ายมาด้วยนะ
ก่อนถ่ายก็ยกมือไหว้ขออนุญาตกันก่อน
เดี๋ยวมีตามมาเอาเรื่องกันทีหลังละก็แย่แน่ๆ
ก่อนกลับออกมาจากคุ้มวงศ์บุรีหลังนี้ บล็อกเกอร์ชื่อดังแห่งยุคก็ได้ลงชื่อในสมุดเยี่ยมชมบ้านหลังนี้เป็นที่เรียบร้อย ต้องขอขอบคุณคุ้มวงศ์บุรี
ที่ทำให้เราได้รับรู้เรื่องราว ได้เห็น ได้สัมผัส ได้รู้สึกว่า อาการขนลุกในระหว่างเดินชมบ้านเป็นอย่างไร