วันนี้จะกลับมาพาเที่ยววัดเหมือนเกิดครับ อิอิอิ แต่ไม่ใช่วัดเก่านะครับ เป็นวัดที่สร้างด้วยศิลปะสมัยใหม่ สวยงาม เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเชียงราย เรียกได้ว่าใครไปใครมาถึงจังหวัดเชียงรายแล้วต้องมาชมวัดนี้ครับ
วัดร่องเสือเต้น เชียงราย
วัดร่องเสือเต้น หรือที่เรารู้จักกันในนาม “วัดสีน้ำเงิน” ตั้งอยู่หมู่บ้านร่องเสือเต้น เลขที่ 306 หมู่ 2 ตำบลริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย 57100 มีเนื้อที่ทั้งสิ้นบนเนื้อที่ของวัด 6 ไร่ 1 งาน 23 ตารางวา โดยตั้งอยู่ริมแม่น้ำกก ฝั่งด้านซ้ายทางทิศตะวันออกของเทศบาลนครเมืองเชียงราย ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงรายมากนัก
จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่เล่าว่าเคยเป็นวัดร้าง สำหรับที่มาของชื่อ “ร่องเสือเต้น” ก็มาจากการที่บริเวณวัดร้างไม่มีบ้านเรือนและผู้คนอาศัยอยู่มากนัก จึงมีสัตว์ป่าจำนวนมากโดยเฉพาะเสือ ชาวบ้านที่ผ่านแถวนั้นมักชอบเห็นเสือกระโดดข้ามร่องน้ำไปมา จึงเรียกบริเวณนี้ต่อๆกันมาว่า “ร่องเสือเต้น” รวมทั้งได้เรียกหมู่บ้านใกล้เคียงบริเวณนี้ว่า “บ้านร่องเสือเต้น”
วัดร่องเสือเต้นถูกสร้างขึ้นเนื่องจากชาวบ้านร่องเสือเต้นไม่มีที่ทำบุญในหมู่บ้าน เวลาทำบุญในวันสำคัญต้องไปทำบุญที่วัดอื่นที่อยู่ไกลออกไป ทำให้คนในหมู่บ้านต่างกระจัดกระจายกันไปไม่มีศูนย์กลางเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ จึงได้ร่วมกันบูรณะวัดร้างแห่งนี้เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านร่องเสือเต้นและเป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในวันสำคัญ ให้ชื่อว่า “วัดร่องเสือเต้น”
วัดร่องเสือเต้น สร้างและออกแบบโดยศิลปินพื้นบ้านชาวเชียงราย นายพุทธา กาบแก้ว หรือที่คนรู้จัดในนาม สล่านก หลังจากที่จบการศึกษาใหม่ๆก็มีโอกาสได้มาเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ในการสร้างวัดร่องขุ่น จนได้ซึมซับศิลปะแนวพุทธศิลป์มาจากอาจารย์เฉลิมชัย เรียกว่าเป็นศิษย์ก้นกุฏิเลยก็ว่าได้ ได้ดำเนินการสร้างวิหารวัดร่องเสือเต้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2548 โดยมีขนาดกว้าง 13 เมตร ยาว 48 เมตร และสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2559 รวมใช้เวลาก่อสร้างแล้วเสร็จถึง 11 ปี
โทนสีที่ใช้ในการสร้างถาวรวัตถุภายในวัดเป็นโทนสีน้ำเงินฟ้าตัดกับสีทองเพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับวัดโดยสีน้ำเงินฟ้านั้นแสดงถึงธรรมะขององค์สมเด็จพระพุทธเจ้าที่ขจรขจายไปทั่วโลก ซึ่งเป็นหลักคำสอนที่เป็นความจริงตามหลักเหตุและผล เปรียบเสมือนดังท้องฟ้าที่สดใส เป็นศิลปะแนวพุทธศิลป์ร่วมสมัยที่แฝงด้วยธรรมของพุทธองค์
ที่หน้าประตูวัดมีทวารบาล ถัดมาเป็นวงเวียนหน้าพระวิหารที่จัดสร้างเป็นพระอุปคุต พระอัครสาวกของพระพุทธเจ้า
ส่วนพญานาคที่อยู่หน้าวิหาร สล่านก ได้รับอิทธิพลจากศิลปะของอาจารย์ ถวัลย์ ดัชนี ที่เน้นลักษณะโครงสร้างที่เข้มแข็ง เขี้ยวเล็บแหลมคมดูน่าเกรงขามแต่มีความอ่อนช้อยในแบบล้านนา
พระวิหารแห่งนี้ให้นิยามว่าเป็นทิพยสถาน คือ เป็นการสรรเสริญพระพุทธเจ้าทั้งในรูปแบบของประติมากรรมและจิตรกรรม เมื่อคนเข้าไปมีจิตใจดีก็จะรักษาศีลก่อให้เกิดสมาธิ และปัญญาตามมา มีประติมากรรมบันไดพญานาคที่ใช้เฉดสีเดียวกันนั้นมีความชดช้อยและลวดลายแตกต่างจากประติมากรรมทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะช่วงเขี้ยวของพญานาคมีความพลิ้วไหวอ่อนช้อย
ภายในวิหารมีผลงานจิตรกรรมภาพวาดฝาพนังเกี่ยวกับพระพุทธประวัติ โดยใช้เฉดสีน้ำเงินฟ้ามีลวดลายที่อ่อนช้อยงดงาม
พระประธานปรจำพระวิหารเป็นพระพุทธรูปสีขาว สูง 6.50 เมตร หน้าตักกว้าง 5 เมตร สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายกได้ประทานพระนามว่า “พระพุทธรัชมงคลบดีตรีโลกนาถ” ซึ่งเป็น โดยมีพระรอดลำพูนจำนวน 88,000 องค์ และแก้วแหวนเงินทองหลายสิ่งถูกฝังอยู่ใต้พระพุทธรูป รวมทั้งบริเวณพระเศียรได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุซึ่งได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ด้วย
ด้านหลังวิหารมีพระพุทธรูปสีขาวปางห้ามญาติองค์ใหญ่ประดิษฐานตรงด้านหลัง
ถัดไปคือ “พระธาตุเกศแก้วจุฬามณีห้าพระองค์” มีความสูง 20 เมตร โดยยอดขององค์พระธาตุได้บรรจุพระบรมสาริกธาตุ จากสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินาย